หากจะกล่าวถึงมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินั้นทุกคนคงต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอลิมปิก” แต่มีอีกหนึ่งทัวร์นาเมนต์ที่จัดได้ว่าได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายนั่นก็คือ “ฟุตบอลโลก” ซึ่งมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติทั้งสองรายการนี้จะมีการจัดแข่งขันขึ้นทุก ๆ 4 ปีมีเจ้าภาพหมุนเวียนสลับกันไปแต่ละทวีป และสำหรับทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ในปฐพีนี้มีบราซิลเข้าร่วมวงตลอดแถมยังกวาดแชมป์ไปได้มากที่สุดจนน่าจะกลายเป็น “แมสคอต” นั่นคือมีบอลโลกต้องมีแซมบ้า
สำหรับฟุตบอลโลกนั้นจะมีรูปแบบการแข่งขันแบ่งเป็นรอบคัดเลือกของแต่ละทวีป ซึ่งแต่ละทวีปจะได้โควตาเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประเทศสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จะกำหนดเอาไว้ และในช่วงหลัง ๆ ก็มีการเพิ่มจำนวนทีมในรอบสุดท้ายขยายไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมี 32 ทีม ทำให้บรรดาชาติเล็ก ๆ ในทวีปเอเชียและแอฟริกาได้มีโอกาสไปโชว์เพลงแข้งในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมากขึ้น โดยโควต้าสุดท้ายของทวีปเอเชีย, คอนคาเคฟ และอเมริกาใต้จะไปเตะเพลย์ออกเพื่อช่วงชิงตั๋วไปลุยฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายกัน
ส่วนประวัติความเป็นมาของศึกฟุตบอลโลกนั้นคร่าว ๆ ก็แบ่งออกเป็นสองยุคคือก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหากจะนับครั้งแรกอย่างเป็นทางการคงต้องเป็นฟุตบอลโลกปี 1930 ที่ประธานฟีฟ่าในยุคนั้นคือ “ชูล ริเม่” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลก และก่อนหน้านี้หากทีมใดได้แชมป์ 3 สมัยก็จะได้ถ้วยอันทรงเกียรตินี้ไปครอบครอง โดยมีบราซิลเพียงชาติเดียวที่ได้ถ้วยฟุตบอลโลกเวอร์ชั่นชูล ริเม่ไปครอบครองได้สำเร็จ ขณะที่การแข่งขั้นครั้งแรกในปี 1930 นั้นอุรุกวัยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 1 ศตวรรษที่ได้รับเอกราช และแชมป์ฟุตบอลโลกทีมแรกก็หนีไม่พ้นเจ้าภาพอุรุกวัยนั่นเอง
การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในยุคก่อนนั้นมันเป็นอะไรที่ลำบากไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทางข้ามทวีปที่สมัยนี้เรานั่งนกเหล็กบินไม่กี่ชั่วโมงก็ไปได้หลายต่อหลายประเทศกันแล้ว ทำให้ฟุตบอลโลกยุคแรกจึงมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันไม่มากนัก แต่หลังจากนั้นวิวัฒนาการและเทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนทำให้โลกนี้ไร้พรหมแดนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้มีการเพิ่มจำนวนทีมในรอบสุดท้ายมากขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้ในรอบสุดท้ายจะมีทั้งหมด 32 ทีม ซึ่งก่อนหน้านี้แชมป์เก่าจะได้สิทธิ์เข้ารอบอัตโนมัติแต่ตอนนี้ต้องไปแข่งขันในรอบคัดเลือก ยกเว้นแต่เจ้าภาพเท่านั้นที่จะได้สิทธิ์พิเศษนี้
เรามาลองติดตามผลงานของชาติเจ้าภาพฟุตบอลโลกกันดีกว่าว่าประสบความสำเร็จกันมากน้อยแค่ไหน โดยนับเฉพาะเจ้าภาพที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลกไปครองก็คงต้องไล่ไปตั้งแต่อุรุกวัยปี 1930, อิตาลี 1934, อาร์เจนติน่า 1978 และเยอรมันปี 1974 ขณะที่ชาติที่ประกาศศักดาความเป็นมหาอำนาจโลกลูกหนังด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้มากที่สุดนั่นก็คือบราซิล 5 สมัย, เยอรมันและอิตาลีชาติละ 4 สมัย, อาร์เจนติน่า, อุรุกวัย, ฝรั่งเศสได้ไปชาติละ 2 ครั้ง โดยมีสเปนและอังกฤษเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกอีกชาติละหนึ่งสมัย